ดอก
 
ผลดิบ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ :Moringa  oleifera  Lam.  
    ชื่อวงศ์ :Horse  Radish  Tree   
    ชื่อสามัญ: MORINGACEAE
   

ชื่อไทย : มะรุม 

    ชื่ออื่น : ผักเนื้อไก่  มะค้อนก้อม  ผักอีฮึม  ผักอีฮุม  กาแน้งเดิง                 
   

นิเวศวิทยา     ถิ่นกำเนิดอินเดีย


   
   
  การขยายพันธุ์       เมล็ด    
     
 

ลักษณะทั่วไป       เป็นไม้ต้นขนาดกลาง  สูง 3-15  เมตร ผลัดใบ  เยือนยอดรูปไข่หรือรูปทรงกระบอก  ทรงพุ่มโปร่ง  ลำต้นตรง  เป็นไม้เนื้ออ่อน  เจริญเติบโตเร็ว  ปลูกง่าย  สามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิดทนแล้งแต่ไม่ชอบพื้นดินที่มีน้ำขังหรือแฉะ  ออกดอกและผลตลอดปี

   
     
 

เปลือก    สีเทาอมขาว  ค่อนข้างเรียบ  แตกเป็นร่องเล็กตื้นๆ ตามทางยาวของลำต้น  เนื้อในเปลือกสีเขียว

   
         
 

ใบ    เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น  ออกเรียงสลับถี่โดยเฉพาะบริเวณปลายกิ่ง  ก้านใบยาว 20 – 25  เซนติเมตร  โคนก้านใบบวม  ก้านใบย่อยและใบย่อยออกเรียงตรงข้าม  ช่อใบย่อยประกอบด้วยใบ 7 – 11 ใบ  ปลายคี่  ใบย่อยมีขนาดเล็กรูปขอบขนาน  รูปไข่  หรือรูปไข่กลับ  กว้าง  0.7 – 1.5  เซนติเมตร  ยาว  1.0 – 2.5  เซนติเมตร  ปลายใบกลมมน  โคนใบมน  บางใบทั้งปลายใบและโคนใบเบี้ยวเล็กน้อย  ก้านใบย่อยยาว 0.2 – 0.3  เซนติเมตร  แผ่นใบบางหลังใบสีเขียวเข้ม  ท้องใบสีอ่อนกว่าและมีขนสั้นๆ   

   
       
 

ดอก    สีขาวนวล  ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง  ดอกตูมมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว ดอกบานกลีบดอกและกลีบเลี้ยงจะบานไม่เป็นระเบียบ  กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยสีเขียว  ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 กลีบ  สีขาวนวล  กว้าง 0.2 – 0.3 เซนติเมตร  ยาว  1.5 – 2.0 เซนติเมตร รูปขอบขนาน  ปลายมน  ขอบกลีบบิดม้วนเล็กน้อย  กลีบดอก 5 กลีบ  แยกออกจากกัน โคนกลีบแคบ และค่อยแผ่ขยายกว้างออกเป็นแผ่นบาง  กว้าง 0.3 – 0.6 เซนติเมตร  ยาว 1 – 2  เซนติเมตร  ปลายกลีบสอบแคบมน  สีขาวนวล  มีเกสรเพศผู้  5  อัน  ก้านดอกยาว 2.0 – 2.5  เซนติเมตร  ดอกบานเต็มที่กว้าง  3 - 4  เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี

 
       
 

ผล เป็นฝักแบบมีเนื้อ  กลมยาวเป็นเหลี่ยมพูหรือคลื่นตื้นๆตามทางยาวของฝัก  และโป่งพองคล้ายฝักถั่ว โคนและปลายฝักเรียวแหลม  ยาว  20 - 35  เซนติเมตร  ฝักอ่อนสีเขียว   เมื่อแก่และแห้งสีน้ำตาล  ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก

 
       
 

 

เมล็ด   กลม  สีน้ำตาลเข้มเปลือกแข็ง  กว้าง  0.6 – 0.8  เซนติเมตร  มีสันนูน  3  สัน  คล้ายรูปสามเหลี่ยม  แต่ละสันมีแผ่นเยื่อแห้งบางๆ กว้าง 0.3 – 0.4  เซนติเมตร  เป็นปีกล้อมรอบ

   
         
         
 

 ประโยชน์                   ส่วนประกอบทุกส่วนของมะรุมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางอาหาร
และสมุนไพร  เช่น 
- ผลหรือฝัก  นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารโดยเฉพาะแกงส้มฝักมะรุม  ดับพิษร้อน  ถอนพิษไข้ 
- เมล็ด แก้ไข้  ตำพอกอาการปวดตามข้อ  แก้บวม  สามารถคั้นเอาน้ำมัน Behen  oil  ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์แทนน้ำมันถั่วได้ 
- เปลือกต้นมีรสเฝื่อน  ใช้ขับลมในลำไส้  แก้ฝี  แก้พยาธิ  แก้หอบหืด  แก้แน่นจุกเสียด 
-ใบมีรสเฝื่อน  ใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน  ต้มกับน้ำดื่มบำรุงหัวใจ  ขับพยาธิ  ตำพอกรักษาบาดแผล  ใช้ห้ามเลือด 
- ดอกมีรสจืด  ใช้ขับปัสสาวะ  และบำรุงกำลัง  รากมีรสเผ็ดหวาน  ใช้กระตุ้นหัวใจ  บำรุงหัวใจ  เนื่องจากมีสารแอลคาลอยด์  2  ชนิด คือ  Moringinine  และ  Moringine  และแก้อาการบวม 
- เนื้อไม้ใช้ทำฟืน  ถ่าน  และด้ามเครื่องมือ         

   
       
  บริเวณที่ปลูก      สนามหน้าอาคาร 2    
       
 

 

   
 
 

เรียบเรียงและถ่ายภาพ โดย รศ.ชนะ วันหนุน